ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bauhinia sirindhorniae K. & S. S. Larsen, Nord. J.Bot.

วงศ์ : Leguminosae-Caesalpinioideae

ชื่อพื้นเมือง : สามสิบสองประดง

ลักษณะทั่วไป : ไม้เลื้อยมีมือเกาะลำต้นทอดยาวได้ 10-20
เมตร กิ่งอ่อน และช่อดอกมีขนสีน้ำตาลแดงปกคลุมหนาแน่น
กิ่งแก่เกลี้ยง

ใบ : เดี่ยวรูปไข่ ปลายใบแหลมหรือหยักเว้าเล็กน้อยหรือแยก
ผ่าลึกถึงฐานใบ ช่อดอกเป็นกระจุกซ้อนกันแน่น ดอก
มีจำนวนมาก กลีบเลี้ยงคล้ายห่อกาบ มีแยกเป็นแฉกตามยาว
1-2 แฉก กลีบดอก 5 กลีบ สีเหลืองหรือส้มแดง

ผล : เป็นฝักแก่แล้วแตก เมล็ดแบน

การกระจายพันธุ์ : พืชถิ่นเดียวของไทย พบบริเวณ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ออกดอกและติดผล
ประมาณเดือน มิถุนายน - กันยายน


     ปี พ.ศ.2538 ดร.ชวลิต นิยมธรรม และคณะได้พบ
ต้นเสี้ยวประหลาด ที่บริเวณชายป่าดิบแล้งบนเทือกเขา
ในจังหวัดหนองคาย หลังจากทำการตรวจสอบในเบื้องต้น
พบว่าเสี้ยวดังกล่าวไม่มีลักษณะที่คล้ายหรือใกล้เคียง
กับเสี้ยวอื่นๆ ที่เคยมีรายงานมาก่อน กระทั่งต่อมา
เมื่อ ศ.ไค ลาร์เซน (Kai Larsen) ผู้เชี่ยวชาญพรรณไม้
ชาวเดนมาร์ก และภรรยา (อาจารย์ สุพีร์ ศักดิ์สุวรรณ ลาร์เซน)
เดินทางมาตรวจสอบพันธุ์ไม้ ณ กรมป่าไม้ ดร.ชวลิต
จึงส่งมอบเสี้ยวที่เก็บมาให้ท่านทั้งสองตรวจสอบอย่างละเอียด
ผลปรากฏว่าเสี้ยวดังกล่าวเป็นพืชชนิดใหม่ของโลก
ลักษณะเด่นคือมีกลีบเลี้ยงห่อคล้ายกาบ ซึ่งมีลักษณะที่
ไม่เคยพบมาก่อนในกลุ่มสกุลย่อย Phanera

      การห่อตัวของกลีบเลี้ยงนี้เองที่บังคับให้กลีบดอก
ไม่สามารถกางออกได้เต็มที่เมื่อดอกบาน ซึ่งเป็นลักษณะ
ที่แตกต่างจากเสี้ยวอื่นๆ อย่างมาก เมื่อเป็นเช่นนี้ท่าน
ทั้งสองจึงร่วมกับกรมป่าไม้ ขอพระราชทานพระราชานุญาต
ใช้พระนามาภิไธยของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
สยามบรมราชกุมารี เพื่อเทิดพระนามพระองค์ท่าน
ที่ทรงสนพระทัย และให้การสนับสนุนงานทางพฤกษศาสตร์
ตลอดมา โดยใช้ชื่อ Bauhinia sirindhorniae K.& S.S. Larsen
หรือ สิรินธรวัลลี อันหมายถึง วัลยชาติแห่งองค์สมเด็จพระเทพฯ
นั่นเอง

      ต่อมาในปี พ.ศ.2542 คณะนักพฤกษศาสตร์จากสวน
พฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ได้สำรวจพรรณพืช
บริเวณเทือกเขา ภูพาน จ.สกลนคร และไปพบสิรินธรวัลลี
เข้าโดยบังเอิญ จึงนับว่าเป็นความโชคดีที่เราได้พบถิ่น
ที่อยู่ตามธรรมชาติของพืชหายากชนิดนี้เพิ่มขึ้นอีกพื้นที่หนึ่ง

      ขณะนี้สวนพฤกษศาสตร์ฯ ได้เพาะขยายพันธุ์สิรินธรวัลลี จนมีปริมาณเพิ่มขึ้น อันจะเป็นหลักประกันว่า พืชหายากชนิดนี้
จะยังคงอยู่เมืองไทยตลอดไป.

หมายเหตุ

พืชตระกูลเสี้ยว (Bauhinia ) เป็นหนึ่งในสมาชิกพืชวงศ์ถั่ว (Leguminosae-Caesalpinioideae ) มีการกระจายพันธุ์ในเขตร้อนทั่วโลกกว่า 300 ชนิด สมาชิกในตัวอย่างกลุ่มเสี้ยว ได้แก่ กาหลง ชงโค และ โยทะกา ฯลฯ