|
|
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จไปทรงเปิดป้ายสนามกีฬา "สิริวัณณวรี" อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ซ |
|
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จไปทรงเปิดป้ายสนามกีฬา "สิริวัณณวรี" อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ซึ่งได้รับพระกรุณาธิคุณพระราชทานพระอนุญาต ให้เชิญพระนามเป็นชื่อสนามกีฬา และเชิญอักษรพระนาม "สร" ประดิษฐานที่ป้ายชื่ออาคารสนามกีฬา เพื่อความเป็นสิริมงคล ทั้งนี้ เมื่อปี 2556 องค์การบริหารส่วนจังหวัดพัทลุง ได้ขออนุญาตใช้สนามกีฬาของโรงเรียนควนขนุน พื้นที่ 31 ไร่ 2 งาน กระทั่งปี 2565 องค์การบริหารส่วนจังหวัดพัทลุงได้ดำเนินการปรับปรุง ดูแลสนามกีฬา, ถนนทางเข้าสนาม, ลานจอดรถ และห้องน้ำ เพื่ออำนวยความสะดวก สำหรับจัดกิจกรรมการเรียนการสอนของนักเรียน และประชาชนอำเภอควนขนุน อำเภอป่าพะยอม และอำเภอศรีบรรพต โดยปี 2563 ได้ใช้สนามกีฬาสำหรับจัดการแข่งขันกีฬาเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 37 ด้วย จากนั้นเสด็จไปยังหอประชุมเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง อำเภอป่าพะยอม ทอดพระเนตรนิทรรศการและการจัดแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชนภาคใต้ ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย จัดขึ้นเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไทยและงานหัตถกรรมให้เป็นที่ยอมรับ โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น องค์ความรู้ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการพัฒนาต่อยอดสร้างรายได้เพิ่มให้ชุมชน ในการนี้ พระราชทานใบความรู้ ประกอบด้วย หนังสือฉบับดิจิทัล อาทิ หนังสือ 36 พรรษา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา, หนังสือผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญา และหนังสือแนวโน้มและทิศทางผ้าไทยและการออกแบบเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทย ฉบับที่ 3 พร้อมพระราชทานคำแนะนำแก่ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP และสมาชิกโครงการศิลปาชีพ ประเภทผ้าและหัตถกรรมในพื้นที่ภาคใต้ กว่า 50 กลุ่ม จาก 14 จังหวัดภาคใต้ ที่เคยมีพระวินิจฉัยให้ปรับเปลี่ยน และพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความร่วมสมัย สามารถสวมใส่ได้ทุกเพศทุกวัย เป็นการเพิ่มช่องทางการตลาดให้กลุ่มผู้ผลิต และผู้ประกอบการ OTOP อาทิ ผ้าฝ้ายทอยกดอก ลายดอกพะยอมเล็ก จากกลุ่มทอผ้านิคมลานข่อย จังหวัดพัทลุง ที่พัฒนาสีย้อมฝ้ายให้สดใส และปรับปรุงลายผ้า โดยนำลายผ้าพระราชทานมาทอ และใช้สีธรรมชาติจากพืชพื้นถิ่น, กระเป๋ากระจูดลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ จากศูนย์ศิลปาชีพบ้านหัวป่าเขียว จังหวัดพัทลุง ที่นำกระจูดมาย้อมสีธรรมชาติ และทำเส้นสานให้เกิดลายที่เล็กและละเอียดกว่าเดิม, ผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญา จากเก๋บาติก จังหวัดกระบี่ ที่แกะแบบมาเขียนมือ ผสมกับลายอัตลักษณ์ของจังหวัด, ผ้ามัดย้อมจากใบ เปลือก เมล็ดของพืชเศรษฐกิจ จังหวัดชุมพร เช่น กาแฟ ให้สีน้ำตาลเข้ม สีเขียว สีเหลือง สีเทา ส่วนโกโก้ ให้สีเหลืองและสีน้ำตาล รวมทั้งพัฒนาลายให้เด่นชัดขึ้น, กระเป๋าย่านลิเภา จากกลุ่มเกษตรจักสานปลูกย่านลิเภา จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่มีพระวินิจฉัยให้พัฒนาให้เส้นละเอียด สานให้แน่น และมีน้ำหนักเบา, กลุ่มปักผ้าลาวาลาเวง จังหวัดนราธิวาส ที่นำเส้นใยใบลาน มาถักทอเป็นชิ้นงานและขนาดตามต้องการ แล้วนำผ้ากาวมารีดทับแล้วปักลวดลายให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตท้องถิ่น โอกาสนี้ พระราชทานพระวโรกาสให้ สมาชิกศิลปาชีพ และกลุ่มผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชน เฝ้ารับพระราชทานคำแนะนำ โดยทรงนำประสบการณ์จากการทรงงาน ทรงศึกษาผ้าทอพื้นเมือง และพระปรีชาสามารถด้านการออกแบบที่นำสมัย รวมทั้งการออกแบบบรรจุภัณฑ์ (Packaging Branding) มาช่วยยกระดับคุณภาพและมูลค่าของผ้า อาทิ ย่านลิเภา ของสมาชิกศิลปาชีพฯ ย่านลิเภา จังหวัดนราธิวาส ที่พระราชทานคำแนะนำให้ขึ้นรูปทรงที่ยากขึ้น นอกจากนี้ มีพระประสงค์ให้ถ่ายทอดความรู้สู่คนรุ่นใหม่ เพื่อไม่ให้ภูมิปัญญาท้องถิ่นสูญหายไป, งานเซรามิกของสมาชิกศิลปาชีพฯ บ้านรอตันบาตู จังหวัดนราธิวาส พระราชทานคำแนะนำให้มีขนาดบางและเบาลง และเปลี่ยนสีตามคู่สี เพื่อให้เกิดความสวยงาม และเพิ่มขนาดสำหรับใช้เป็นภาชนะสำรับอาหาร รวมทั้งทำสีแจกันเซรามิกใหม่และเพ้นท์ลายเพิ่ม นอกจากนี้ โปรดให้ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย และดีไซน์เนอร์ที่มีชื่อเสียง ให้คำปรึกษาแนะนำแก่ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP และช่างทอผ้า เพื่อยกระดับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เทรนด์สีสัน เทรนด์แฟชั่นผ้าไทย การออกแบบคอลเลกชั่นผ้าไทย การเลือกใช้เส้นใยที่มีคุณภาพ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์สำหรับผ้าไทย และการสร้างแบรนด์ จากนั้น ทอดพระเนตรนิทรรศการ อาทิ ผ้ายกตานี ซึ่งศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ได้รื้อฟื้นมรดกมลายู "ผ้ายกตานี" ร่วมกับกลุ่มทอผ้าบ้านไม้แก่น จังหวัดปัตตานี เพื่อให้มรดกสิ่งทอ อยู่คู่กับแผ่นดินหลังจากได้สูญหายมาชั่วระยะหนึ่ง, ผ้าไทยลายอัตลักษณ์ 14 จังหวัดภาคใต้ เช่น ผ้าลายแก้วชิงดวง จังหวัดตรัง, ผ้าทอเกาะยอ ลายราชวัตร จังหวัดสงขลา, ผ้าลายพิกุลพลอย จังหวัดนราธิวาส และผ้ายกเมืองนคร จังหวัดนครศรีธรรมราช รวมทั้งจัดแสดงผลิตภัณฑ์จากสมาชิกศิลปาชีพบ้านเนินธัมมัง จังหวัดนครศรีธรรมราช, กลุ่มศิลปาชีพปักผ้า ค่ายจุฬาภรณ์ ในการนี้ ทอดพระเนตรการแสดงรำโนราผสมท่า รำโนราตัวอ่อน ระบำพราน จากนักศึกษาวิทยาลัยนาฏศิลป์พัทลุง ซึ่งโนรา หรือ มโนราห์ เป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านชั้นสูงของภาคใต้ ที่ผสมระหว่างการร้อง การรำ ที่สะท้อนถึงความเชื่อและพิธีกรรม โดยได้รับการประกาศขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ และถูกเสนอชื่อขึ้นบัญชีมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ของยูเนสโก ในปี 2564 ก่อนเสด็จกลับ พระราชทาน "ผ้าลายดอกรักราชกัญญา" เนื่องในโอกาสเสด็จมาทรงเยี่ยมราษฎรจังหวัดพัทลุง แก่ปลัดกระทรวงมหาดไทย และนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เพื่อนำไปมอบแก่ช่างทอผ้าทุกกลุ่มทุกเทคนิค และเยาวชนรุ่นใหม่ ที่มุ่งมั่นสืบสาน ต่อยอดภูมิปัญญา และงานหัตถศิลป์พื้นถิ่นให้ดำรงคงอยู่คู่แผ่นดินไทย โดยได้ทรงศึกษาค้นคว้าลวดลายพื้นถิ่นภาคใต้ แล้วทรงนำมาออกแบบผสมผสานกับ "ลายดอกรัก" ที่สื่อถึงความรักและกำลังใจ ซึ่งผ้าลายพระราชทาน "ผ้าลายดอกรักราชกัญญา" แบ่งออกเป็นประเภทผ้าบาติก ผ้ามัดหมี่ และผ้ายก นอกจากนี้ ได้พระราชทานผ้าบาติก ลายที่ 4 ซึ่งโปรดให้พัฒนา "ผ้าบาติกลายพระนามาภิไธยสิริกิติ์" ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงได้รับการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยือนเมืองยอกยาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย เมื่อปี 2503 ซึ่งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงออกแบบผสมผสาน "ลายดอกรักราชกัญญา" ร่วมกับลายดั้งเดิม ที่ใช้ลวดลายดอกไม้นานาชนิด เพื่อให้มีความร่วมสมัยและเป็นสากล |
|
ติดตามข่าวสารและกิจกรรมเทิดทูนสถาบันได้ที่ |
|