จากภูมิปัญญาล้านนา สู่ผ้าคลุมองค์
 
การจกผ้า เป็นการสร้างลายโดยเพิ่มเส้นด้ายพุ่งพิเศษเข้าไปเป็นช่วง ๆ ไม่ติดต่อกันตลอดหน้ากว้างของผืนผ้า การจกนิยมใช้วัตถุที่แหลมพอควร เช่น ไม้ ขนเม่นหรือนิ้วมือยกเส้นด้ายยืนขึ้นแล้วสอดใส่เส้นด้ายพิเศษสีต่าง ๆ กันเข้าไปตามจังหวะของลวดลาย การทอแบบจกนั้นสามารถจกลายจากด้านหน้าหรือด้านหลังของผ้าก็ได้ ลวดลายที่มองเห็นด้านหน้าจะเรียบส่วนด้านหลังเป็นปมที่เกิดจากการผูกเส้นด้ายสีต่าง ๆ ผ้าจกสามารถนำไปตัดเย็บประกอบเข้ากับผ้าชิ้นอื่น ๆ ที่สำคัญ ได้แก่ ผ้าซิ่นของสตรี โดยที่การทอและจกอาจจะทำเพียงบางส่วน ผ้าที่จกแล้วและนำไปประกอบเป็นเชิงผ้าซิ่นเรียกว่า "ผ้าซิ่นตีนจก" ตัวซิ่นมักจะทอลายขวางลำตัวที่เรียกว่า "ซิ่นตา" ต่อด้วยหัวซิ่นสีขาวและแดง ส่วนซิ่นที่ต่อด้วยเทคนิคจกบริเวณตีนซิ่นเป็นผ้านุ่งที่ใช้ในโอกาสพิเศษ เช่น เทศกาลงานปอยหลวง งานตานก๋วยสลาก พิธีแต่งงาน และพิธีขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น เนื่องจากเป็นผ้าที่มีความละเอียดและการทอยุ่งยาก เจ้าของผ้าจึงมักถนอมเป็นพิเศษบางครั้งจึงมีการนุ่งผ้าซ้อนด้านในอีกหนึ่งชั้นเพื่อถนอมผ้าจก

. สีที่ตัดกันของเส้นด้ายเป็นลายต่าง ๆ นั้นเป็นเอกลักษณ์ที่บอกให้ทราบถึงกลุ่มชนผู้ทอและสื่อให้เห็นถึงความคิด ความเชื่อ ความคิดสร้างสรรค์ที่เป็นอุดมการณ์ของสังคม วิถีชีวิต ตลอดจนสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ ผ้าจกจึงเป็นผ้าที่ทำให้เกิดความรู้สึกต่อผู้ใช้ว่าเป็นผู้คนอยู่ในกลุ่มเดียวกัน มีวัฒนธรรมความเป็นอยู่เหมือนกัน และเป็นเจ้าของวัฒนธรรมเดียวกัน ผ้าซิ่นตีนจกที่มีชื่อเสียงมาก ได้แก่ ลายจกอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ลายจกอำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ลายจกชาวไทยวนจังหวัดราชบุรี และลายจกชาวไทพวน จังหวัดสุโขทัย


 
จำนวนภาพ 1 ภาพ
 
บันทึกเมื่อ 10/4/2565 ภาพ
 
ภาพกิจกรรม พระราชกรณียกิจ