ที่มาของชื่อ สวนลุมพินี
.
ที่นี่ต้องให้เป็นวนะสาธารณะอย่างเดียว จะไปทําอื่นไม่ได้ นอกจากจะได้รับอนุญาตจากฉันและกุลทายาทต่อ ๆ ไปเท่านั้น
พระราชกระแสรับสั่งตอนหนึ่งในพระราชประสงค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ในการพระราชทานโฉนดที่ดิน สวนลุมพินี ให้เป็นสวนสาธารณะแห่งแรกของสยาม
.
เหตุใดสวนสาธารณะพระราชทานที่ใหญ่ที่สุดใจกลางกรุงเทพมหานคร จึงมีชื่อว่า สวนลุมพินี วันนี้เพจน้ำเงินเข้มมีคำตอบมาเฉลยกัน
.
เดิมทีนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานที่ดินอันเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ จำนวน 360 ไร่ บริเวณตำบลศาลาแดง ที่เหลือจากที่ได้แบ่งเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปแล้ว โดยที่ดินแห่งนี้มีพื้นที่ครอบคลุมด้านทิศเหนือ ติดถนนสารสิน , ด้านทิศใต้ ติดถนนพระรามที่ 4 , ด้านทิศตะวันออก ติดถนนวิทยุ และด้านทิศตะวันตก ติดถนนราชดำริ เพื่อจัดงานเอ็กซ์โปอย่างนานาชาติ โดยพระราชทานชื่องานว่า งานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ เพื่อเฉลิมฉลองการครองราชสมบัติครบ 15 ปี รวมทั้งเพื่อจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าต่าง ๆ โดยมีพระราชประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศหลังจากเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกจากภาวะหลังสงครามโลกครั้งที่ 1โดยทรงสละพระราชทรัพย์เป็นทุนประเดิมในการเตรียมสถานที่ ครั้งนั้นมีการขุดสระกว้าง สร้างเกาะลอยกลางน้ำ ตัดถนน และสร้างถาวรวัตถุ เช่น หอนาฬิกา ตึกแบบกรีกไว้ด้วย แต่งานยังไม่ทันได้เปิด ก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน งานจึงถูกยกเลิกไปโดยปริยาย
.
นอกจากนี้ทรงมีพระราชประสงค์แต่เดิมว่า เมื่อการจัดงานเอ็กซ์โปเสร็จสิ้นแล้ว จะทรงยกที่ดินการจัดงานนี้ให้เป็นสวนสาธารณะเพื่อเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจแก่ประชาชน และพระราชทานนาม สวนสาธารณะแห่งนี้ว่า ลุมพินี ไว้ตามแบบชื่อของตําบลหนึ่งในประเทศเนปาลอันเป็นสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า นั่นคือ ลุมพินีวัน
.
หลังจากนั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ทรงขึ้นเสวยราชสมบัติ จึงทรงรื้อฟื้นโครงการสวนสาธารณะตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระบรมเชษฐาอีกครั้ง เมื่อปี พ.ศ. 2471 ดังที่มีพระราชกระแสในการพระราชทานโฉนดที่ดินสวนลุมพินี ความตอนหนึ่งว่า
.
ที่นี่ต้องให้เป็นวนะสาธารณะอย่างเดียว จะไปทําอื่นไม่ได้ นอกจากจะได้รับอนุญาตจากฉันและกุลทายาทต่อๆ ไปเท่านั้น
.
โดยทรงเปิดพื้นที่ประมาณ 270 ไร่ ให้ประชาชนได้เข้าใช้เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงเคยมีแต่เดิม และที่เหลืออีกประมาณ 90 ไร่ด้านใต้ของสวนลุมพินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พระยาคทาธรธิบดีสีหราชบาลเมือง หรือนายเทียบ อัศวรักษ์ เช่าที่ดินจัดเป็นวนเริงรมย์ สามารถเปิดการแสดงมหรสพ ออกร้านขายของขายอาหาร มีเครื่องเล่นสําหรับเด็ก อาทิ กระเช้าสวรรค์ ม้าหมุน โดยทรงนําเงินที่ได้จากค่าเช่านี้มาปรับปรุงและบำรุงที่ดินต่อไป
.
ในปี พ.ศ. 2485 เพื่อเป็นการรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ รัฐบาลในสมัยนั้นจึงจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดิษฐาน ณ ด้านหน้าของสวนลุมพินี ตราบจนถึงปัจจุบัน
.
|