๓๐ ธันวาคม ๒๕๖๕ วันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์
 
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ พระโอรสพระองค์เดียวในสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ประสูติแต่หม่อมคัทริน ณ พิศณุโลก ประสูติเมื่อวันเสาร์ที่ ๒๘ มีนาคม ๒๔๕๑ เมื่อเวลา ๒๓.๕๘ น. ที่ห้องแดง ภายในวังปารุสกวัน ถือเป็นบุคคลเดียวที่ถือกำเนิดบนตำหนักวังปารุสก์

สมเด็จพระพันปีหลวง เมื่อรู้ข่าวว่าพระนัดดาประสูติ ที่แต่เดิมเคยกริ้วในพระโอรสมาก่อน ก็ทรงตื่นเต้นและหายกริ้ว รีบเสด็จมาทอดพระเนตร เอาพระทัยใส่ทั้งการจัดห้องหับ การดูแลเรื่องต่าง ๆ มีพิธีการทำขวัญเดือนตามธรรมเนียมโบราณ เมื่อแรกประสูติทรงมีฐานันดรศักดิ์เป็นหม่อมเจ้า

สมเด็จพระพันปีหลวง พระราชทานพระนามว่า “หม่อมเจ้าพงษ์จักร จักรพงษ์” ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระนามใหม่ว่า “จุลจักรพงษ์” โดยเป็นการเอาอย่างพระนามของทูลหม่อมปู่ คือ “จุลจอมเกล้า” ทั้งยังเป็นการล้อพระนามพระบิดา คือ เล็ก ไปในขณะเดียวกัน

พระองค์นี้ได้นำความปลาบปลื้มปีติยินดีให้กับสมเด็จพระพันปีหลวงยิ่งนัก อันเนื่องมาแต่ ทรงพระเมตตาที่มิได้ทรงได้รับพระอิสริยยศเป็น “พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้า” ดังที่ควรจะเป็น จึงใคร่จะพระราชทาน ข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ก็ทรงจัดพระราชทานให้เป็นพิเศษเทียบเท่ากับสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอแทบทุกประการ ด้วยทรงห่วงใยที่หม่อมคัทรินที่มีเชื้อชาติยุโรป จะไม่สามารถอบรมฝึกฝนจริตมารยาทของพระโอรส ให้เข้ากับระเบียบแบบแผนเจ้านายตามพระราชประเพณีไทยได้ดี หากยังได้ดูแลใกล้ชิดขนาดบรรทมร่วมบนพระที่ด้วย

ถึงแม้ว่าทูลกระหม่อมปู่ (รัชกาลที่ ๕) แม้จะไม่ทรงรับพระนัดดาองค์ใหม่เป็นหลานอย่างเปิดเผย แต่ในที่สุดก็ได้โปรดให้พระนัดดาเข้าเฝ้าในปี ๒๔๕๓ ที่พระราชวังพญาไท เมื่อพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์มีพระชันษา ๒ ปี พระองค์ก็ทรงเล่าให้สมเด็จพระพันปีหลวง ถึงพระนัดดาไว้ว่า

“...วันนี้ฉันได้พบกับหลานชายของเธอ ดูน่ารักน่าเอ็นดูเหมือนพ่อ ฉันรู้สึกรักและหลงใหลคนนี้ตั้งแต่แรกเห็น เพราะถึงอย่างไรนี่ก็เป็นสายเลือดเชื้อไขของฉันเอง...”

และรับสั่งต่อด้วยถ้อยคำที่แฝงความรู้สึกโล่งพระทัยว่า

“...และไม่มีเค้าว่า มีเชื้อสายฝรั่งติดมาด้วยเลย...”

ภายหลังรัชกาลที่ ๕ ได้สวรรคต ได้ค้นพบหลักฐานจากการบันทึกของหม่อมเจ้าทิพย์รัตน์ประภา เทวกุล ที่ท่านหญิงเคยรับใช้ฉลองพระเดชพระคุณสมเด็จพระพันปีหลวง ในพระบรมมหาราชวัง ทรงมีรับสั่งกับท่านหญิงว่า “...สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงกำลังโปรดตาหนู เสียดายที่มาด่วนสวรรคตไปเร็ว...”

ส่วนรัชกาลที่ ๖ ทรงพระเมตตารักท่านหนู ถ้าจะใคร่สันนิษฐาน โปรดเพียงใดจะเห็นได้ในประกาศเมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระยศขึ้นเป็น “พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์” เมื่อปี ๒๔๖๓

ช่วงท้ายของพระชนมชีพ พระองค์เริ่มประชวรเป็นเนื้องอกที่หลอดอาหารส่วนบนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๐๒ และได้รับการรักษาด้วยการฉายแสงที่โรงพยาบาลในกรุงลอนดอน จนพระอาการดีขึ้นตามลำดับ จากผลการตรวจพบว่าพระองค์เป็นมะเร็ง ซึ่งในสมัยนั้นเป็นเรื่องใหญ่ไม่ต่างจากคำพิพากษาประหารชีวิต แม้พระโรคจะกำเริบขึ้นในบางระยะแต่พระองค์ทรงมีกำลังพระทัยที่เข้มแข็ง ทรงพยายามดูแลรักษาพระองค์อย่างดีที่สุดและปฏิบัติตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด ทรงน้อมรับความเป็นจริงของชีวิตด้วยสติและเตรียมความพร้อมในทุกเรื่อง โดยไม่ประมาททั้งยังมีการสั่งเรื่องการจัดการพระศพไว้ล่วงหน้าด้วย

วันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๐๖ ณ พระตำหนักเทรเดซี่ ตั้งแต่บ่าย ๒ โมงครึ่งไปแล้วตามเวลาสหราชอาณาจักร ก็ทรงหลับสงบไม่รู้สึกพระองค์แต่ชีพจรยังแรงอยู่ ตลอดเวลาเหล่านี้ท่านไม่ได้แสดงพระอาการเจ็บปวดหรือทรมานอย่างใดเลย จนในที่สุด สิ้นพระชนม์เมื่อเวลา ๑๙.๒๐ น. ตามเวลาสหราชอาณาจักร
 
จำนวนภาพ 6 ภาพ
 
บันทึกเมื่อ 1/5/2566 ภาพ
 
ภาพกิจกรรม พระราชกรณียกิจ