เจ้านายเล็ก ๆ สู่ยุวกษัตริย์
 
เนื้อความตอนหนึ่งในหนังสือเจ้านายเล็กๆ-ยุวกษัตริย์ พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้บอกเล่าว่า

ในปี ๒๔๗๗ เป็นปีที่นำการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงมาในชีวิตของครอบครัวมหิดลหรือถ้าจะพูดให้ถูกต้อง คือ ราชสกุลมหิดล และนำความทุกข์ความกังวลมายังผู้ที่เจ้านายเล็ก ๆ ในราชสกุลนี้เคารพรักที่สุด คือ สมเด็จย่าและแม่

หลังจากที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ไม่นานสถานการณ์ทางการเมืองก็ไม่เรียบร้อยขึ้นมา

“...ชั่วระยะเวลาเพียงไม่ถึงหนึ่งปีความยุ่งยากทางการเมืองได้เกิดขึ้นในเดือนมีนาคม ๒๔๗๕...”

“...ตลอดระยะเวลาที่มีวิกฤติการณ์ทางการเมืองนี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพยายามวางพระองค์เป็นกลาง แต่ความสัมพันธ์ระหว่างสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับรัฐบาล ก็มิได้ดีขึ้นในวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๔๗๖ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จไปรักษาพระเนตรที่ประเทศอังกฤษ พร้อมด้วยสมเด็จพระราชินี ทั้งนี้เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดทางการเมือง...”

“...ระหว่างที่ประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยขัดแย้งกับรัฐบาลหลายเรื่อง ในวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๔๗๗ ทรงมีราชโทรเลขถึงสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ (พระอิสริยยศขณะนั้น) ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ว่าทรงสมัครพระราชหฤทัยที่จะสละราชสมบัติ...”

“...ระหว่างเดือนตุลาคมถึงกุมภาพันธ์ ๒๔๗๗ รัฐบาลพยายามหาทางประนีประนอมให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จกลับมาครองราชย์ในประเทศไทย ได้แต่งตั้งผู้แทนคณะหนึ่งประกอบด้วยเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ ประธานสภาผู้แทนราษฎร นาวาตรี หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ร.น. และนายดิเรก ชัยนาม ไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ประเทศอังกฤษ เพื่อกราบบังคมทูลชี้แจงความคิดเห็นของรัฐบาล แต่มีปัญหาข้อขัดแย้งหลายประการที่ไม่อาจยุติลงได้...”

เหตุการณ์ข้างต้นนำความกระทบกระเทือนอย่างไรมาสู่ผู้ที่จะต้องไตร่ตรองชั่งน้ำหนักของสิ่งที่ควรทำ หรือไม่ทำตัดสินว่าสิ่งใดสำคัญสำหรับประเทศชาติ สิ่งใดจำเป็นสำหรับชีวิตและอนาคตของลูก จะเห็นได้จากเอกสารชุดหนึ่งคือจดหมายของแม่ถึงสมเด็จพระพันวัสสาฯ

ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ๒๔๗๗ มีข่าวในหนังสือพิมพ์ประเทศต่าง ๆ รวมทั้งที่สวิตเซอร์แลนด์ด้วยว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จะทรงสละราชสมบัติ และว่าพระองค์เจ้าอานันทมหิดล อาจเป็นผู้สืบราชสันตติวงศ์ เขาลงด้วยว่าพระองค์เจ้าอานันทมหิดล ประทับอยู่ที่โลซานน์แม่ได้เขียนถึงสมเด็จพระพันวัสสาฯ เมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายนว่า

“...พวกหนังสือพิมพ์ก็เที่ยวตามหาตัว ทีแรกเขาหาไม่พบ เพราะไปหาชื่อสงขลา เขาไปหาผู้ดูแลนักเรียน แกก็ไม่บอกให้ ก็เลยไม่พบ ทีหลังมีคนถ่ายรูปมาอีก ทีนี้เขาหาได้ เพราะไปถามที่ออฟฟิศที่มีรายชื่อชาวต่างประเทศ เขามาขอถ่ายรูปเพราะที่ลอนดอน เขาส่งมาให้ถ่าย หม่อมฉันเองไม่อยากให้เขาถ่าย แต่ผลสุดท้ายก็ต้องยอม เพราะเขาบอกว่าถ้าไม่ยอม เขาอาจไปดักถ่ายนันทเวลากลับจากโรงเรียนก็ได้ แต่เขาอยากจะขออนุญาตเสียก่อน...”

แต่ชีวิตใหม่ของทุกคนก็ไม่สนุกเสมอไป จากจดหมายของแม่ลงวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๔๗๗ เราจะทราบได้ว่าการขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทำให้แม่มีกังวลเพียงไร

“...การที่นันทจะต้องไปเล่นละครเป็นกษัตริย์นะไม่ดีสำหรับเส้นประสาทเลยแต่เมื่อจำเป็นจริง ๆ ก็ต้องทำ...”

นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของเจ้านายเล็ก ๆ สู่ยุวกษัตริย์

พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ ๘ (ขณะนั้นดำริงพระอิสริยยศที่ “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล”) เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตร พระปรางค์วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร

ที่มา หนังสือเจ้านายเล็กๆ-ยุวกษัตริย์ พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
 
จำนวนภาพ 1 ภาพ
 
บันทึกเมื่อ 1/17/2566 ภาพ
 
ภาพกิจกรรม พระราชกรณียกิจ