17 มกราคม ค.ศ. 1834 หรือ พ.ศ. 2376 (นับแบบปัจจุบันตรงกับ พ.ศ. 2377)(วันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช)
 
เจ้าฟ้ามงกุฎฯ (ต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ขณะผนวชอยู่เป็นผู้ทรงค้นพบจารึกพ่อขุนรามคำแหง หรือ จารึกหลักที่ 1 เมื่อวันกาบสี ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 3 จ.ศ. 1214 ตรงกับวันศุกร์ที่ 17 มกราคม ค.ศ. 1834 หรือ พ.ศ. 2376 (นับแบบปัจจุบันตรงกับ พ.ศ. 2377) ณ เนินปราสาทเมืองเก่าสุโขทัย อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย มีลักษณะเป็นหลักสี่เหลี่ยมด้านเท่า ทรงกระโจม สูง 111 เซนติเมตร หนา 35 เซนติเมตร เป็นหินทรายแป้งเนื้อละเอียด มีจารึกทั้งสี่ด้าน ปัจจุบันเก็บอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพมหานคร

สำนักงานสภาจังหวัดสุโขทัย ได้มีหนังสือเสนอต่อ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ขอให้มีการกำหนด “วันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช” ขึ้น ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2531 โดยถือวันที่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินเพื่อทรงประกอบพระราชพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช วันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2526 เป็น “วันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช”

ต่อมาคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย และจัดเอกสารทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี ได้พิจารณาเรื่องการกำหนดวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ใหม่ ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ โดยเสนอว่าควรเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพบหลักศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช วันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2376 มีการเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ในการกำหนดวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาติ ซึ่งคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยและจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี ได้พิจารณาเห็นชอบด้วย จึงกำหนดให้ วันที่ 17 มกราคม ของทุกปีเป็น “วันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช”

เนื้อหาของจารึกพ่อขุนรามคำแหงแบ่งได้เป็นสามตอน ตอนที่หนึ่ง บรรทัดที่ 1 ถึง 18 เป็นการเล่าพระราชประวัติพ่อขุนรามคำแหงมหาราชตั้งแต่ประสูติจนเสวยราชย์ ใช้คำว่า "กู" เป็นหลัก ตอนที่ 2 ไม่ใช้คำว่า "กู" แต่ใช้ว่า "พ่อขุนรามคำแหง" เล่าถึงเหตุการณ์และธรรมเนียมในกรุงสุโขทัย และตอนที่สาม ตั้งแต่ด้านที่ 4 บรรทัดที่ 12 ถึงบรรทัดสุดท้าย มีตัวหนังสือต่างจากตอนที่ 1 และ 2 จึงน่าจะจารึกขึ้นภายหลัง เป็นการสรรเสริญและยอพระเกียรติพ่อขุนรามคำแหง และกล่าวถึงอาณาเขตราชอาณาจักรสุโขทัย

จารึกพ่อขุนรามคำแหงได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลกเมื่อปี พ.ศ. 2546 โดยยูเนสโกบรรยายว่า "[จารึกนี้] นับเป็นมรดกเอกสารชิ้นหลักซึ่งมีความสำคัญระดับโลก เพราะให้ข้อมูลอันทรงค่าว่าด้วยแก่นหลักหลายประการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมโลก ไม่เพียงแต่บันทึกการประดิษฐ์อักษรไทยซึ่งเป็นรากฐานแห่งอักษรที่ผู้คนหกสิบล้านคนใช้อยู่ในประเทศไทยปัจจุบัน การพรรณนาสุโขทัยรัฐไทยสมัยศตวรรษที่ 13 ไว้โดยละเอียดและหาได้ยากนั้นยังสะท้อนถึงคุณค่าสากลที่รัฐทั้งหลายในโลกทุกวันนี้ร่วมยึดถือ"
 
จำนวนภาพ 2 ภาพ
 
บันทึกเมื่อ 1/23/2566 ภาพ
 
ภาพกิจกรรม พระราชกรณียกิจ