|
ปลานิลจิตรลดา โปรตีนธรรมดาที่มาจากพระราชวัง |
ปลานิลจิตรลดา โปรตีนธรรมดาที่มาจากพระราชวัง
17 มีนาคม 2509 จุดกำเนิดปลานิลจิตรลดา ปลาพระราชทานจาก ในหลวง ร.9 แก่พสกนิกรชาวไทย
"กินข้าวกินปลามาหรือยัง" คำถามธรรมดาที่แสดงวัฒนธรรมไทยได้อย่างชัดเจน สำหรับวิถีชีวิตอันเรียบง่ายของคนไทยแล้ว พอเพียงกินอิ่มนอนหลับก็สามารถเลือกได้ว่า มีความสุขตามอัตภาพ และสิ่งนี้เองที่ทำให้พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงสนพระราชหฤทัยในการแสวงหาแหล่งอาหารโปรตีนที่หาได้ง่าย และราคาไม่แพง
ภายในเขตพระราชฐาน อันหมายถึงพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต จึงอาจเป็นพระราชวังแห่งเดียวในโลกที่ไม่เพียงมีแปลงนาที่มีการทำนาจริง ๆ เท่านั้น แต่ยังมีบ่อเลี้ยงปลา เพื่อเพาะพันธุ์ปลาสำหรับพระราชทาน
ย้อนกลับไปก่อนที่จะเกิดเป็นโครงการเพาะเลี้ยงปลานิลในปี พ.ศ. 2495 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ส่งเลี้ยงปลาหมอเทศที่เจ้าหน้าที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้ทูลเกล้าฯ ถวายในสระน้ำบริเวณพระที่นั่งอัมพรสถาน โดยส่งให้กรมประมงนำมาทดลองเลี้ยงและขยายพันธุ์ในพื้นที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐานด้วย เนื่องจากทรงพิจารณาเห็นว่า ปลาหมอเทศนี้เลี้ยงง่าย โตเร็ว กินอาหารธรรมชาติ คือ ตะไคร่น้ำ และเศษวัชพืช อีกทั้งยังสามารถแพร่ขยายพันธุ์ได้ง่าย
ครั้นต่อมา ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2508 สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะแห่งประเทศญี่ปุ่น ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นมกุฎราชกุมาร ได้ทูลเกล้าฯ ถวายลูกปลาสายพันธุ์ใกล้เคียงกับปลาหมอเทศซึ่งมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Tilapia nilotica จำนวน 25 คู่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โปรดเกล้าฯ ให้กรมประมงนำไปเลี้ยงไว้ในบ่อดินภายในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ซึ่งพบว่า ปลาชนิดนี้สามารถเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน อีกทั้งยังมีรสชาติดี
ในปีถัดมาได้พระราชทานชื่อปลาชนิดนี้ว่า ปลานิล โดยเรียกชื่อตามพยางค์ต้นของชื่อสายพันธุ์ คือ nilotica และได้พระราชทานพันธุ์ปลาที่ทรงเพราะเลี้ยงกว่า 10,000 ตัว แก่กรมประมง เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2509 เพื่อนำไปให้กับสถานีประมงจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อเพาะเลี้ยง ขยายพันธุ์ และแจกจ่ายให้กับราษฎร
ขณะเดียวกัน ยังทรงมีพระราชดำริให้กรมประมงรักษาสายพันธุ์ปลานิลพันธุ์แท้ไว้ที่บ่อปลาภายในโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา ด้วยเหตุนี้ปลานิลที่เพาะเลี้ยงในบ่อเพาะเลี้ยงตลอดแนวถนนเข้าโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา จึงมีชื่อเรียกว่า "ปลานิลสายพันธุ์จิตรลดา" โดยทรงมีพระราชกระแสรับสั่งไว้คราวหนึ่งว่า
"...ถ้าหาปลานิลพันธุ์แท้ไม่ได้ ก็ให้มาเอาที่สวนจิตรลดา..."
นอกจากนี้ ยังทรงมีพระราชประสงค์ให้กรมประมงปรับปรุงพันธุ์ปลานิลให้มีคุณภาพดีขึ้นโตเร็ว มีเนื้อมาก จวบจนปัจจุบันนี้ หากนับจากปลานิลรุ่นแรกที่สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะแห่งญี่ปุ่นได้ทูลเกล้าฯ ถวายแล้วนับได้ว่าเป็นปลานิลสายพันธุ์จิตรลดา รุ่นที่ 3 ที่ผ่านการปรับปรุงสายพันธุ์ให้เหมาะกับประเทศไทยมากยิ่งขึ้น (ข้อมูล ณ ปี พ.ศ. 2561)
ทุกวันนี้ ปลานิลเป็นปลาน้ำจืดที่รู้จักกันทั่วไปเพราะเลี้ยงได้ง่าย กินอาหารตามธรรมชาติ ทั้งสาหร่าย แหน ไรน้ำ อาจให้อาหารเสริมพวกรำข้าว ปลายข้าว กากถั่ว เพียงเท่านี้ก็สามารถทำให้ปลาเจริญเติบโตได้ดี ปลานิลจึงมีจำหน่ายในตลาดทั่วไปในราคาที่ไม่สูง อาจกล่าวได้ว่าเป็นปลาที่แสนจะธรรมดาในอาหารมื้อหนึ่ง ๆ ของชาวบ้าน
แต่ในความธรรมดาของปลานิลนี้เอง กลับแฝงนัยยะอันลึกซึ้งจากพระมหากรุณาธิคุณอันเปี่ยมล้นด้วยพระเมตตาของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงคิดคำนึงถึงความเป็นอยู่ที่ดีของพสกนิกรของพระองค์อยู่ตลอดเวลา
|
|
จำนวนภาพ 1 ภาพ |
|
บันทึกเมื่อ 3/20/2566 ภาพ |
|
ภาพกิจกรรม พระราชกรณียกิจ |
|
|
|