ปลานิล เป็นปลาที่คนไทยคุ้นเคยและรู้จักกันเป็นอย่างดี แต่จะมีสักกี่คนที่ทราบว่าปลานิลมีประวัติศาสตร์ และมีเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเกี่ยวเนื่องกับพระมหากษัตริย์ถึงสองพระองค์ นั่นก็คือ กษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีไทยและจักรพรรดิแห่งราชวงศ์ญี่ปุ่น
นับย้อนหลังไปเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2508 สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโต เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศมกุฎราชกุมารแห่งประเทศญี่ปุ่น ทรงจัดปลานิลจำนวน 50 ตัว ความยาวเฉลี่ยตัวละประมาณ 9 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 14 กรัม ทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ต่อมา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปล่อยลงเลี้ยงในบ่อดินเนื้อที่ประมาณ 10 ตารางเมตร ภายในบริเวณสวนจิตรลดา
เมื่อเลี้ยงได้สักระยะปรากฎว่ามีลูกปลาเกิดขึ้นจำนวนมาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าหน้าที่ขุดบ่อขึ้นใหม่อีก 6 บ่อ เนื้อที่เฉลี่ยบ่อละประมาณ 70 ตารางเมตร และได้ทรงย้ายพันธุ์ปลาด้วยพระองค์เอง จากบ่อเดิมไปปล่อยในบ่อใหม่ทั้ง 6 บ่อ เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2508 ต่อจากนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมประมงจัดส่งเจ้าหน้าที่วิชาการมาตรวจสอบการเจริญเติบโตเป็นประจำทุกเดือน
เมื่อทรงเลี้ยงไปสักระยะ ทรงสังเกตเห็นว่าปลานิลเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย ออกลูกดก เจริญเติบโตได้รวดเร็ว จึงมีพระราชประสงค์ที่จะให้ปลานิลนี้แพร่ขยายพันธุ์ อันจะเป็นประโยชน์แก่พสกนิกรของพระองค์ ดังนั้นเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2509 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อปลานิลนี้ว่า "ปลานิล"
ปลานิลมีถิ่นที่อยู่อาศัยดั้งเดิมมาจากแม่น้ำไนล์ (Nile) หรือชื่อวิทยาศาสตร์ Tilapia nilotica และได้พระราชทานปลานิลขนาดยาว 3-5 เซนติเมตร จำนวน 10,000 ตัว แก่กรมประมงนำไปเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ในบริเวณสถานีประมงต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์พร้อมกัน เมื่อปลานิลแพร่ขยายพันธุ์ออกไปได้มากเพียงพอแล้ว จึงได้แจกจ่ายให้แก่ราษฎรนำไปเพาะเลี้ยงตามความต้องการต่อไป
นั่นคือประวัติการเดินทางคร่าว ๆ ของปลานิลจากประเทศญี่ปุ่นสู่ประเทศไทย แม้ว่าปัจจุบันปลานิลจะเป็นที่รู้จักแพร่หลายแล้วก็ตาม แต่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ก็ยังทรงโปรดเกล้าฯ ให้ทดลองเลี้ยงและแพร่ขยายพันธุ์ปลานิลในบ่อสวนจิตรลดาต่อไป โดยในทางวิชาการเรียกสายพันธุ์ปลานิลนี้ว่า ปลานิลสายพันธุ์จิตรลดา ซึ่งยังคงเป็นปลานิลสายพันธุ์แท้ที่ประเทศไทยได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายจากพระจักรพรรดิอะกิฮิโตแห่งประเทศญี่ปุ่น
ในวันนี้ไม่เพียงแต่สวนจิตรลดาเท่านั้นที่มีการขยายพันธุ์และอนุรักษ์พันธุ์ปลานิล ปัจจุบัน มูลนิธิชัยพัฒนา ยังได้เดินดำเนินงานตามรอยพระราชดำริ โดยขยายพื้นที่การเลี้ยงปลานิลออกสู่ต่างจังหวัดเพื่อให้เข้าถึงราษฎรได้มากที่สุด โดยได้จัดทำโครงการสาธิตการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตลูกปลานิลสายพันธุ์จิตรลดาในพื้นที่ดินเปรี้ยว บ้านเกาะกา ตำบลท่าเรือ อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก เพื่อผลิตลูกปลานิลสายพันธุ์จิตรลดาแท้ที่มีคุณลักษณะดี และมีเป้าหมายเพาะพันธุ์ปลานิลสายพันธุ์จิตรลดาให้ได้ผลผลิตประมาณ 5-10 ล้านตัวต่อปี และเพื่อจำหน่ายในราคาถูกให้แก่เกษตรกรนำไปเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ รวมถึงถ่ายทอดความรู้ด้านการเพาะพันธุ์ปลานิลสายพันธุ์จิตรลดาให้แก่เกษตรกรและประชาชนที่สนใจทั่วไป
ภายในโครงการประกอบด้วย บ่อดิน สำหรับใช้เป็นบ่อเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ซึ่งได้มาจากสวนจิตรลดา และบ่ออนุบาลลูกปลา อาคารเพาะฟักและอนุบาลลูกปลา เป็นต้น นอกจากนั้นยังได้มีการแปลงเพศปลานิล หรือที่เราคุ้นหูกันเป็นอย่างดีว่าปลานิลแปลงเพศ เพื่อกำหนดเพศปลานิลให้เป็นเพศผู้ เนื่องจากปลานิลเพศผู้มีอัตราการเจริญเติบโตสูงกว่าเพศเมีย ทั้งยังมีตัวใหญ่และให้ผลผลิตต่อไร่สูงกว่า และยังสามารถกำหนดขนาดของปลาให้มีขนาดใกล้เคียงกันเกือบทั้งบ่อได้อีกด้วย
ปัจจุบันปลานิลไม่ได้นิยมเลี้ยงเพื่อบริโภคแต่เพียงอย่างเดียว โดยหลังจากแล่เนื้อปลาเพื่อจำหน่าย ได้นำหัวปลาและก้างไปเป็นส่วนผสมของอาหารสัตว์ เรายังสามารถนำส่วนต่าง ๆ ของปลานิลไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย โดยสำนักข่าวรอยเตอร์ได้รายงานเผยแพร่ข่าวไปทั่วโลกเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2550 ว่า โรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์แห่งหนึ่งในจังหวัดเพชรบุรีของประเทศไทย นำเอาเกล็ดปลานิลซึ่งมีความแข็งมาดัดแปลงรีไซเคิลให้เกิดประโยชน์ โดยให้โรงงานในจังหวัดนครปฐม นำไปแปรสภาพให้มีสีสันและตัดเย็บเป็นแผ่นสำหรับเป็นวัสดุในการตัดเย็บผลิตภัณฑ์จากเกล็ดปลานิล ซึ่งนักออกแบบได้ดัดแปลงทำได้หลายอย่าง อาทิ กระเป๋าถือ รองเท้า หรือแม้แต่ชุดชั้นใน บิกินี
ปลานิลตัวเล็ก ๆ ซึ่งเดินทางมาไกลจากประเทศญี่ปุ่นในวันนั้น นำมาซึ่งปลานิลนับแสนนับล้านตัวในวันนี้ จากแรกเริ่มเพียง 50 ตัว ได้รับการเอาพระทัยใส่จากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จนสามารถเจริญเติบโตแพร่ขยายพันธุ์ก่อให้เกิดคุณอนันต์มากมายแก่ประชาชนชาวไทย ปัจจุบันไม่มีใครไม่รู้จักปลานิล ในทางกลับกัน เราสามารถเรียนรู้วิธีการนำเอาประโยชน์จากปลานิลไปพัฒนาจนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ มากมาย ผลจากสายพระเนตรที่ยาวไกลและทรงห่วงใยพสกนิกร นำมาซึ่งผลผลิตอันเป็นทั้งอาหารและสินค้าส่งออกที่สำคัญของประเทศไทย ให้สามารถหล่อเลี้ยงประชาชนได้กินดีอยู่ดีพอเพียงตามอัตภาพ
ในวันนี้ หากท่านมีโอกาสได้ลองลิ้มชิมรสปลานิลครั้งใด ขอจงระลึกไว้เสมอว่าปลานิลที่ท่านรับประทานอยู่ เป็นอีกหนึ่งในนับร้อยนับพันโครงการของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่พระราชทานแก่พสกนิกรชาวไทย แม้เป็นเพียงเรื่องเล็กๆ แต่ก็มิได้ทรงละเลย นับเป็นความโชคดีของเราแท้ ๆ ที่เกิดมาเป็นประชาชนชาวไทย
ขอบคุณเรื่องเล่าจาก วารสารมูลนิธิชัยพัฒนา ฉบับเดือนเมษายน 2551
|