จากการสำรวจของโพลล์ต่างๆเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พบว่า การเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมประชาชนในท้องถิ่นต่างๆของประเทศ เป็นพระราชกรณียกิจที่คนไทยประทับใจมากที่สุด และมีความสุขเมื่อได้รับฟังเรื่องราวเหล่านี้ ซึ่งทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนี้มาอย่างต่อเนื่อง
หลังกลับจากการรักษาพระองค์จากอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อเสด็จกลับมาประทับในพระราชอาณาจักรอย่างถาวร และทรงว่าราชการด้วยพระองค์เองแล้ว ได้มีหลายประเทศทูลเชิญให้เสด็จไปเยือน แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตั้งพระราชหฤทัยที่จะเสด็จเยี่ยมเยียนราษฎรในภาคต่างๆก่อนจะเสด็จไปต่างประเทศ
ในขณะที่เตรียมหมายกำหนดการจะออกเยี่ยมราษฎรภาคต่างๆอยู่นั้น ก็ได้เกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ขึ้นที่ตลาดบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ในวันที่ ๙ กันยายน ๒๔๙๗ ราษฎรได้รับความเดือดร้อนจากไฟไหม้ในครั้งนี้อย่างมาก ต่อมาในวันที่ ๑๓ กันยายน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชินี ได้เสด็จไปเยี่ยมและพระราชทานความช่วยเหลือแก่ราษฎรผู้ประสบอัคคีภัยที่นั่น ซึ่งนับได้ว่าเป็นการเสด็จเยี่ยมราษฎรอย่างเป็นทางการครั้งแรกในรัชกาล
สมัยนั้น ตลาดบ้านโป่งไม่ได้หลบเข้าไปอยู่ห่างจากเส้นทางลงสู่ภาคใต้อย่างในปัจจุบัน ถนนเพชรเกษมที่ล่องลงใต้ต้องผ่านตลาดบ้านโป่ง ซึ่งเป็นชุมทางการค้าสำคัญริมแม่น้ำแม่กลอง มีตลาดล่างและตลาดบนอยู่ติดกัน แต่แล้วทั้ง ๒ ตลาดแม้จะมีถนนคั่นกลาง ก็ราบเรียบเป็นเถ้าถ่านภายในเวลาเพียง ๔ ชั่วโมงด้วยอัคคีภัย ทำให้หลายคนหมดเนื้อหมดตัวจนไม่อยากมีชีวิตอยู่ แต่ก็เป็นเหตุการณ์สร้างประวัติศาสตร์จารึกอยู่ในความทรงจำของชาวบ้านโป่ง เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จไปเยี่ยมราษฎรผู้ประสบความเดือดร้อนโดยไม่มีหมายกำหนดการ และไม่มีใครคาดคิด
อัคคีภัยครั้งนี้ได้เกิดขึ้นเมื่อราว ๑๔.๓๐ น.ของวันที่ ๙ กันยายน ต้นเพลิงเกิดจากร้านโชห่วยค้าทั้งปลีกและค้าส่งประเภทอาหารกระป๋อง และไปขาดทุนจากการทำเหมืองที่ปิล็อก กาญจนบุรี ก่อนหน้านั้นประมาณ ๑ เดือนก็เคยเกิดไฟไหม้ที่ร้านนี้มาครั้งหนึ่งแล้ว แต่ชาวบ้านช่วยกันดับทัน ครั้งนี้ไฟได้โหมขึ้นอย่างรวดเร็วจนตั้งสติกันไม่ทัน จังหวัดราชบุรีและนครปฐมที่อยู่ใกล้ ก็มีรถดับเพลิงจังหวัดละคันเท่านั้น ต้องโทรเลขขอจากกรุงเทพฯให้มาช่วย ซึ่งก็ส่งมาได้แค่ ๒ คัน แต่กว่าจะได้รับโทรเลขและกว่าจะเดินทางมา ๗๐ กิโลเมตร บ้านเรือนร้านค้ากว่า ๘๐๐ หลังของทั้งสองตลาดที่ส่วนใหญ่เป็นไม้ ก็ราบเรียบเป็นเถ้าถ่านไปหมดแล้ว มีคนตาย ๓ คน รวมทั้งลูกเสือ ๑ คนที่เข้าไปช่วยชีวิตคนอื่น ประชาชนกว่า ๖,๐๐๐ คนประสบภัย ทรัพย์สินเสียหายกว่า ๖๐ ล้าน มีผู้ประกันไฟไว้เพียง ๑๑๕ ราย เป็นเงินรวม ๓,๗๗๕,๐๐๐ บาท อาแป๊ะแก่คนหนึ่ง มีร้านขายผ้า ๒ คูหาอยู่ติดกับร้านต้นเพลิง และยังเป็นประธานโรงเจ มีหน้าที่เก็บรักษาเงินบริจาคจำนวนมากของโรงเจไว้ แต่ก็ขนอะไรไม่ทัน สูญทั้งทรัพย์สินของตัวเองและของโรงเจจนหมด เสียใจถึงกับยอมตายในกองเพลิง แต่เพื่อนบ้านช่วยกันอุ้มออกมาได้
ตำรวจจับเจ้าของร้านต้นเพลิงซึ่งกำลังหลบหนี ยอมรับว่าเผาเพื่อหวังเอาเงินประกันเพียง ๓๐,๐๐๐ บาท
ทางจังหวัด กรมประชาสงเคราะห์ กรมอนามัย และกองอาสากาชาด ได้ระดมความช่วยเหลือผู้เคราะห์ร้าย สร้างเพิงให้อาศัยชั่วคราว และแจกเสื้อผ้าอาหาร แม้จะพอทุเลาความเดือดร้อนลงได้บ้าง แต่หลายคนก็หมดอาลัยตายอยากกับชีวิตที่หมดสิ้นทุกอย่าง ทั้งทรัพย์สินและที่อยู่อาศัย
แต่ในขณะที่ชาวตลาดบ้านโป่งกำลังท้อแท้สิ้นหวังกันอยู่นั้น ในวันที่ ๑๓ กันยายน เวลาประมาณ ๑๐.๐๐ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินี ทรงขับรถพระที่นั่งมายังที่เกิดเหตุด้วยพระองค์เอง พร้อมด้วยสมุหราชองครักษ์ โดยไม่มีใครได้รู้ล่วงหน้า ทั้งนี้ทรงมีพระราชประสงค์มิให้เจ้าหน้าที่ซึ่งกำลังมีภาระช่วยเหลือราษฎร ต้องวางมือมารับเสด็จ ทรงขับรถพระที่นั่งออกจากพระที่นั่งอัมพรสถานโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ถวายอารักขาก็ไม่ทราบ ตามมาทันก็เมื่อทรงแวะเสวยพระกระยาหารที่พระที่นั่งชาลีบรมอาสน์ พระราชวังสนามจันทร์ นครปฐม
รถยนต์พระที่นั่งได้วนรอบบริเวณที่เกิดอัคคีภัย ทรงไต่ถามทุกข์สุขของผู้ประสบอัคคีภัย นายแม้น อรจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ซึ่งกำลังดูแลการช่วยเหลือประชาชนอยู่ ได้เข้าเฝ้ากราบบังคมทูลถวายรายงาน และอัญเชิญเสด็จไปประทับบนที่ว่าการอำเภอบ้านโป่งซึ่งรอดจากไฟ ได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน ๑ แสนบาท พร้อมให้เจ้าหน้าที่สถานีวิทยุ อ.ส. นำเสื้อผ้าอาหารและยารักษาโรคไปพระราชทานแก่ผู้ประสบทุกข์ เสด็จกลับเมื่อเวลา ๑๕.๓๐ น.
การเสด็จเยี่ยมตลาดบ้านโป่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชินี ในขณะที่ราษฎรกำลังทุกข์สาหัสครั้งนี้ ทำให้หัวใจที่ห่อเหี่ยวสิ้นหวังของชาวตลาดบ้านโป่ง กลับมีชีวิตชีวา มีพลังที่จะเผชิญชีวิตกันต่อไป และเป็นเรื่องราวที่เล่าถ่ายทอดให้ลูกหลานได้รับรู้ถึงความประทับใจมาจนทุกวันนี้
การเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรที่ตลาดบ้านโป่งครั้งนี้ จึงนับเป็นครั้งแรกในรัชกาลที่เสด็จพระราชดำเนินออกเยี่ยมราษฎร
ต่อมาในวันที่ ๒๐-๒๑ กันยายน ๒๔๙๘ ได้เสด็จเยี่ยมราษฎรจังหวัดนครปฐมและสุพรรณบุรี
วันที่ ๒๗-๒๙ กันยายน ๒๔๙๘ เสด็จไปเยี่ยมราษฎรในจังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา
วันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๔๙๘ เสด็จเยี่ยมราษฎรจังหวัดนครนายก
ในวันที่ ๒-๒๐ พฤศจิกายน ๒๔๙๘ เสด็จเยี่ยมราษฎรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งนับเป็นกษัตริย์พระองค์แรกที่เสด็จเยี่ยมภาคอีสาน
ในวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์-๑๗ มีนาคม ๒๕๐๑ หลังจากทรงผนวชและลาสิขาบทแล้ว ได้เสด็จเยี่ยมราษฎรในภาคเหนือ
และในวันที่ ๖-๒๗ มีนาคม ๒๕๐๒ เสด็จเยี่ยมราษฎรในภาคใต้ ก่อนจะเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมนานาประเทศ โดยเสด็จสาธารณรัฐเวียดนามใต้เป็นประเทศแรกในวันที่ ๑๘-๒๑ ธันวาคม ๒๕๐๒
การเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรทั้ง ๔ ภาคครั้งแรกเมื่อ ๖๑ ปีก่อนนี้ นับเป็นเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ ซึ่งพระราชปณิธาน พระราชอัธยาศัย ได้แสดงออกปรากฏอย่างชัดเจน ทรงห่วงใยทุกข์สุขและการทำมาหากินของประชาชน ทรงปรารถนาที่จะหาทางช่วยเหลือพสกนิกรของพระองค์ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อีกทั้งพระราชอัธยาศัยอันงดงาม เป็นแบบฉบับของกษัตริย์ประชาธิปไตย ทรงวางพระองค์เป็นคนไทยคนหนึ่ง ที่มีตำแหน่งเป็นประมุขของประเทศ ไม่เหลือความเป็นสมมุติเทพเช่นสมัยอดีต ทรงนับญาติลุงป้าตายายกับราษฎรตามธรรมเนียมไทย ไม่เหลือช่องว่างระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชนอีกต่อไป เป็นที่ปลาบปลื้มของราษฎรที่เข้าเฝ้า และเป็นความประทับใจที่จดจำไว้เป็นความสุขชั่วชีวิต อันเป็นส่วนหนึ่งที่พระองค์ทรงเป็นที่รักเคารพ เทิดทูนไว้เหนือเกล้าของชาวไทยในปัจจุบัน
แต่มีบันทึกไว้ตั้งแต่ปี ๒๔๙๕ ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินี ได้เสด็จไปที่ห้วยมงคล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และเกิดโครงการพระราชดำริโครงการแรกขึ้นที่นั่น แต่เป็นการเสด็จเพื่อสำรวจภูมิประเทศเป็นการส่วนพระองค์
เรื่องเปิดเผยเมื่อมีรถจิ๊ปคันหนึ่งมาตกหล่มหน้าบ้านลุงรวย งามขำ ที่บ้านห้วยมงคล ตำบลหินเหล็กไฟ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นถิ่นทุรกันดารยังไม่มีถนนไปถึง มีทหารตำรวจราว ๑๐ นายกำลังช่วยกันเข็น ลุงรวยผู้รวยน้ำใจจึงเข้าช่วยอีกแรง เมื่อรถขึ้นจากหล่มแล้วลุงรวยจึงรู้ว่าเป็นรถพระที่นั่ง และผู้ที่อยู่ในรถก็คือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนั่นเอง
พระเจ้าอยู่หัวได้มีรับสั่งถามถึงความเป็นอยู่และปัญหาของราษฎรในหมู่บ้าน ซึ่งลุงรวยได้กราบบังคมทูลว่า ปัญหาใหญ่ก็คือถนน เพราะอยู่ห่างตลาดหัวหินไม่เท่าไหร่ แต่ต้องเดินแบกผลผลิตทางการเกษตรหรือใส่ท้ายรถจักรยานไป ใช้เวลาเดินทางไปกลับทั้งวัน
ก่อนกลับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานเงินให้ลุงรวย ๓๖ บาท เป็น เงินก้นถุง ซึ่งลุงรวยได้นำไปบูชาไว้เป็นมงคล
หลังจากนั้นไม่กี่วัน ลุงรวยก็ได้เห็นตำรวจพลร่มกลุ่มหนึ่งนำรถไถบุกเบิกเป็นถนนเข้ามาและใช้เวลาตกแต่งไม่ถึงเดือนก็เสร็จ ทำให้สามารถนำผลผลิตทางการเกษตรไปถึงตลาดหัวหินได้ภายในเวลาเพียง ๒๐ นาที ไม่ต้องเดินแบกหรือใช้จักรยานอย่างแต่ก่อน
ถนนห้วยมงคล จึงนับเป็นถนนพระราชทานเพื่อชีวิตที่ดีกว่าของราษฎรสายแรก ก่อนที่จะมีโครงการอันเนื่องจากพระราชดำริตามมาอีกกว่า ๔,๐๐๐ โครงการ
|