HOME      ABOUT US    CRMA NETWORK    ACTIVITY    IT SERVICE    CONTACT US    CRMA HOME

You Are Here >> Home / CRMA News

 
 
 
 


เรื่อง : ข้อแนะนำวิธีสำรองข้อมูลเพื่อป้องกันมัลแวร์เรียกค่าไถ่หรือข้อมูลสูญหาย

ข้อแนะนำวิธีสำรองข้อมูลเพื่อป้องกันมัลแวร์เรียกค่าไถ่หรือข้อมูลสูญหาย

ผู้เขียน: เสฏฐวุฒิ แสนนาม และ ณัฐโชติ ดุสิตานนท์
วันที่เผยแพร่: 1 มิถุนายน 2560
ปรับปรุงล่าสุด: 1 มิถุนายน 2560

ความสำคัญของการสำรองข้อมูล
ในหลายๆ ครั้ง ข้อมูลในคอมพิวเตอร์นั้นมีมูลค่ามหาศาล หากข้อมูลเหล่านั้นได้รับความเสียหาย ก็อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานหรือการทำธุรกิจได้ โอกาสที่ข้อมูลจะสูญหายสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น เครื่องติดมัลแวร์ ฮาร์ดดิสก์ชำรุด หรือแม้กระทั่งผู้ใช้เผลอแก้ไขหรือลบไฟล์โดยไม่ตั้งใจ ดังนั้น การมีข้อมูลสำรองไว้ก่อนเกิดเหตุก็จะช่วยลดความเสียหายได้มาก
การสำรองข้อมูลสามารถทำได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการคัดลอกข้อมูลลงในฮาร์ดดิสก์สำรอง การอัปโหลดข้อมูลไปเก็บไว้กับผู้ให้บริการ cloud หรือแม้กระทั่งการซื้อบริการสำรองข้อมูลสำหรับใช้ในหน่วยงานโดยเฉพาะ ซึ่งแต่ละวิธีการก็มีข้อดีข้อเสียและค่าใช้จ่ายแตกต่างกัน
บทความนี้เป็นข้อแนะนำสำหรับผู้ใช้ทั่วไปในการสำรองข้อมูลในคอมพิวเตอร์ที่ใช้งานระบบปฏิบัติการ Windows และวิธีการกู้คืนข้อมูล โดยจะแนะนำการใช้ File History ซึ่งเป็นความสามารถในการสำรองข้อมูลอัตโนมัติของ Windows เวอร์ชันใหม่ๆ และการสำรองข้อมูลไว้กับผู้ให้บริการ cloud ที่ได้รับความนิยม ได้แก่ Microsoft OneDrive, Google Drive และ Dropbox

การสำรองข้อมูลแบบออฟไลน์โดยใช้ File History

ตั้งแต่ Windows 8 เป็นต้นไป Microsoft ได้เพิ่มคุณสมบัติ File History [1] เข้ามาเพื่อช่วยในการสำรองและกู้คืนข้อมูล โดยสามารถตั้งค่าให้สำรองข้อมูลลงในฮาร์ดดิสก์แบบเชื่อมต่อภายนอก (external hard disk) หรือ ไดรฟ์ในเครือข่าย (network drive) ได้แบบอัตโนมัติ
File History นอกจากจะช่วยในการสำรองและกู้คืนข้อมูลแล้ว ยังสามารถเก็บเวอร์ชันของไฟล์เพื่อย้อนกลับไปใช้งานไฟล์เวอร์ชันก่อนหน้าที่จะถูกแก้ไขหรือถูกลบได้ (ความสามารถคล้ายกับ Time Machine ของ macOS)
บทความนี้จะแนะนำวิธีใช้งาน File History ใน Windows 10 ในการสำรองข้อและกู้คืนข้อมูลจากฮาร์ดดิสก์แบบเชื่อมต่อภายนอก

วิธีเปิดใช้งาน File History

  1. เชื่อมต่อฮาร์ดดิสก์แบบเชื่อมต่อภายนอกเข้ากับเครื่องคอมพิวเตอร์ โดยควรเป็นฮาร์ดดิสก์ที่มีพื้นที่ว่างมากพอสำหรับใช้สำรองข้อมูล
  2. คลิกที่ปุ่ม Windows พิมพ์คำว่า Backup จากนั้นคลิกที่โปรแกรม Backup settings
  3. ในหน้าต่าง Back up using File History คลิกปุ่ม Add a drive จากนั้นเลือกฮาร์ดดิสก์ที่จะใช้สำรองข้อมูล (เลือกได้เฉพาะฮาร์ดดิสก์แบบเชื่อมต่อภายนอก ไม่สามารถสำรองข้อมูลลงในฮาร์ดดิสก์ที่อยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ได้)
  4. ระบบจะเริ่มทำการสำรองข้อมูลให้โดยอัตโนมัติ ค่าเริ่มต้นของข้อมูลที่ถูกสำรองจะเป็นข้อมูลที่อยู่ในโฟลเดอร์ Home ของผู้ใช้ (เช่น Documents, Download, Pictures) หากต้องการเพิ่มหรือนำบางโฟลเดอร์ออกจากการสำรองข้อมูล คลิกที่ตัวเลือก More options
  5. ที่หน้าจอ Backup options สามารถตั้งค่าการสำรองข้อมูลได้ดังนี้
    1. Back up my files กำหนดความถี่ในการสำรองข้อมูล เลือกได้ตั้งแต่สำรองข้อมูลทุกๆ 10 นาที ไปจนถึงสำรองข้อมูลวันละครั้ง (ค่าเริ่มต้นเป็นการสำรองข้อมูลทุกชั่วโมง)
    2. Keep my backups เลือกว่าข้อมูลที่เก่าเกินระยะเวลานานเท่าใดถึงจะถูกลบทิ้ง ค่าเริ่มต้นคือไม่มีการลบทิ้ง (Forever) หากฮาร์ดดิสก์เต็มผู้ใช้ต้องลบข้อมูลทิ้งด้วยตนเอง หากต้องการให้ลบข้อมูลเก่าโดยอัตโนมัติเมื่อฮาร์ดดิสก์ใกล้เต็ม สามารถเปลี่ยนการตั้งค่าตรงนี้เป็น Until space is needed
    3. Back up these folders เลือกได้ว่าจะเพิ่มหรือนำโฟลเดอร์ใดออกจากการสำรองข้อมูล หากมีโฟลเดอร์ใดที่ไม่ต้องการสำรองข้อมูล ให้คลิกที่โฟลเดอร์นั้นแล้วเลือก Remove
  6. หากระบบยังไม่เริ่มสำรองข้อมูล หรือต้องการสั่งให้เริ่มสำรองข้อมูล ณ ขณะนั้น สามารถคลิกที่ปุ่ม Back up now เพื่อเริ่มดำเนินการ
  7. ข้อมูลที่ถูกสำรองไว้ จะอยู่ในโฟลเดอร์ FileHistory ในฮาร์ดดิสก์ที่ใช้เก็บข้อมูล

วิธีกู้คืนข้อมูลที่สำรองไว้

  1. เชื่อมต่อฮาร์ดดิสก์ที่เก็บข้อมูลที่สำรองไว้
  2. คลิกที่ปุ่ม Windows พิมพ์คำว่า File History จากนั้นคลิกที่โปรแกรม Restore your files with File History
  3. ที่หน้าจอโปรแกรม File History จะปรากฏรายการข้อมูลที่สำรองไว้ โดยแสดงตามวันเวลาที่ข้อมูลถูกสำรอง สามารถกดย้อนกลับเพื่อดูข้อมูลย้อนหลังได้
  4. การกู้คืนข้อมูล ทำได้โดยคลิกที่ปุ่มวงกลมลูกศรสีเขียว โดยสามารถเลือกได้ว่าจะกู้คืนข้อมูลทั้งโฟลเดอร์หรือกู้คืนเฉพาะบางไฟล์ที่ต้องการ สามารถดูตัวอย่างไฟล์ก่อนกู้คืนได้ [2]

การใช้ BitLocker เพื่อเข้ารหัสลับฮาร์ดดิสก์ที่เก็บข้อมูล

เนื่องจากไฟล์ที่ถูกเก็บสำรองไว้ในฮาร์ดดิสก์แบบเชื่อมต่อภายนอกอาจมีข้อมูลที่เป็นความลับอยู่ จึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาข้อมูลรั่วไหลหากฮาร์ดดิสก์สูญหายหรือถูกขโมย หนึ่งในวิธีที่สามารถช่วยได้คือการเข้ารหัสลับข้อมูลในฮาร์ดดิสก์โดยใช้ BitLocker ซึ่งทำได้โดย
  1. คลิกขวาที่ไอคอนฮาร์ดดิสก์ที่เก็บสำรองข้อมูล เลือกเมนู Turn on BitLocker
  2. ที่หน้าจอ BitLocker Drive Encryption สามารถตั้งรหัสผ่านสำหรับใช้ปลดล็อกฮาร์ดดิสก์ได้ ซึ่งต้องใส่รหัสผ่านนี้ทุกครั้งที่มีการเชื่อมต่อฮาร์ดดิสก์เข้ากับเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อเข้าถึงข้อมูลที่อยู่ข้างใน
หมายเหตุ: ความสามารถในการเข้ารหัสลับข้อมูลด้วย BitLocker ไม่มีใน Windows 10 เวอร์ชัน Home หากต้องการเข้ารหัสลับข้อมูลอาจต้องใช้เครื่องมืออื่นช่วย เช่น VeraCrypt [3]

ข้อแนะนำและข้อควรระวังในการสำรองข้อมูลแบบออฟไลน์

  • หากลักษณะการใช้งานเครื่องคอมพิวเตอร์ เป็นการแก้ไขไฟล์เอกสารอย่างสม่ำเสมอ ควรตั้งค่าความถี่ในการสำรองข้อมูลให้บ่อยที่สุด เพื่อที่จะสามารถกู้คืนไฟล์ข้อมูลเวอร์ชันล่าสุดได้หากระบบเกิดปัญหา
  • หลังการสำรองข้อมูลเสร็จสิ้น ควรทดสอบให้แน่ใจว่าข้อมูลที่สำรองไว้สามารถนำมากู้กลับคืนได้จริง
  • การสำรองข้อมูลด้วยวิธีนี้ มีความเสี่ยงหากเครื่องคอมพิวเตอร์ติดมัลแวร์ ข้อมูลที่อยู่ในฮาร์ดดิสก์สำรองอาจได้รับผลกระทบตามไปด้วย ควรตรวจสอบให้แน่ใจก่อนนำฮาร์ดดิสก์มาเชื่อมต่อกับเครื่องคอมพิวเตอร์ หากมีข้อมูลที่สำคัญมากๆ อาจพิจารณาสำรองข้อมูลไว้มากกว่า 1 ชุด

การสำรองข้อมูลแบบออนไลน์โดยใช้บริการ Cloud

การสำรองข้อมูลโดยใช้บริการ cloud คือการนำข้อมูลไปฝากไว้กับผู้ให้บริการออนไลน์ที่ให้บริการพื้นที่เก็บข้อมูล ข้อดีคือข้อมูลที่อยู่บน cloud สามารถเข้าถึงได้จากอุปกรณ์อื่นๆ ที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ (เช่น โทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ต) อีกทั้งในบางบริการสามารถเก็บไฟล์ไว้หลายเวอร์ชัน ทำให้สามารถกู้คืนไฟล์ที่แก้ไขผิดพลาดหรือถูกลบแบบไม่ตั้งใจได้ ข้อเสียของการสำรองข้อมูลด้วยวิธีนี้คือมีโอกาสที่ข้อมูลอาจรั่วไหลได้
การสำรองข้อมูลผ่าน cloud ทำได้ทั้งการอัปโหลดไฟล์ผ่านหน้าเว็บไซต์ หรือการติดตั้งโปรแกรมเฉพาะไว้ที่เครื่องเพื่อให้ดาวน์โหลดหรืออัปโหลดไฟล์โดยอัตโนมัติ ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างการสำรองและกู้คืนข้อมูลผ่านบริการ cloud ที่ได้รับความนิยม ได้แก่ Microsoft OneDrive, Google Drive และ Dropbox

การดาวน์โหลด ติดตั้ง และใช้งานบริการ Cloud

เนื่องจากวิธีติดตั้งและใช้งานโปรแกรมอาจมีความเปลี่ยนแปลงหากผู้พัฒนามีการอัปเดตเวอร์ชัน เพราะฉะนั้นบทความนี้จะไม่ขออธิบายในรายละเอียดเหล่านั้น โดยผู้ใช้สามารถศึกษาวิธีดาวน์โหลด ติดตั้ง และใช้งานบริการ cloud ได้จากเว็บไซต์ของผู้พัฒนา ดังนี้
  • Microsoft OneDrive มีติดตั้งมาพร้อมกับ Windows 10 อยู่แล้ว แต่หากใช้งาน Windows เวอร์ชันเก่าหรือถอนการติดตั้งออกไปแล้ว สามารถดาวน์โหลดมาติดตั้งใหม่และศึกษาวิธีใช้งานได้จาก https://onedrive.live.com/about/th-TH/download/
  • Google Drive สามารถดาวน์โหลดและศึกษาวิธีใช้งานได้จาก https://support.google.com/drive/answer/2374987?hl=th
  • Dropbox สามารถดาวน์โหลดและศึกษาวิธีใช้งานได้จาก https://www.dropbox.com/help/desktop-web/download-dropbox

การกู้คืนข้อมูลเวอร์ชันก่อนหน้า

หากเผลอแก้ไขไฟล์ ลบไฟล์โดยไม่ตั้งใจ หรือติดมัลแวร์ทำลายไฟล์ ผู้ใช้สามารถกู้คืนไฟล์เวอร์ชันก่อนหน้าได้ อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาในการกู้คืนไฟล์อาจมีจำกัด เนื่องจากผู้ให้บริการบางราย เช่น Dropbox จะเก็บไฟล์เวอร์ชันย้อนหลังไว้ไม่เกิน 1 เดือน รายละเอียดวิธีการกู้คืนไฟล์เวอร์ชันก่อนหน้า สามารถทำได้ดังนี้
Microsoft OneDrive
  1. ล็อกอินเข้าเว็บไซต์ https://onedrive.live.com
  2. ในหน้าจอแสดงรายการไฟล์ คลิกขวาไฟล์ที่ต้องการเรียกดูเวอร์ชันก่อนหน้า จากนั้นเลือกเมนู Version History
  3. คลิกเลือกเวอร์ชันของไฟล์ที่ต้องการกู้คืน จากนั้นเลือกเมนู Restore [4]
Google Drive
  1. ล็อกอินเข้าเว็บไซต์ https://drive.google.com
  2. ในหน้าจอแสดงรายการไฟล์ คลิกขวาไฟล์ที่ต้องการเรียกดูเวอร์ชันก่อนหน้า จากนั้นเลือกเมนู Manage versions..
  3. ในหน้าจอแสดงรายการไฟล์ คลิกเลือกเวอร์ชันของไฟล์ที่ต้องการกู้คืน จากนั้นคลิกที่ปุ่ม More actions (จุดไข่ปลาแนวตั้ง) แล้วเลือก Download
Dropbox
การกู้คืนทีละไฟล์
  1. ล็อกอินเข้าเว็บไซต์ https://www.dropbox.com
  2. ในหน้าจอแสดงรายการไฟล์ คลิกปุ่มสัญลักษณ์ 3 จุด เลือกเมนู Version history
  3. เลือกเวอร์ชันของไฟล์ที่ต้องการเรียกดูเวอร์ชันก่อนหน้า จากนั้นคลิกปุ่ม Restore
การกู้คืนไฟล์จำนวนมากในคราวเดียว
Dropbox มีบริการช่วยเหลือสำหรับผู้ใช้ที่ต้องการกู้คืนไฟล์จำนวนมากในคราวเดียว (เช่น เครื่องติดมัลแวร์เรียกค่าไถ่แล้วไฟล์ที่อัปโหลดขึ้นไป Dropbox ถูกเข้ารหัสลับ) สามารถแจ้งทีมช่วยเหลือของ Dropbox เพื่อให้ช่วยกู้คืนไฟล์ได้โดยไม่เสียค่าบริการ แต่อาจมีระยะเวลาในการดำเนินงาน การขอความช่วยเหลือสามารถทำได้โดย
  1. ล็อกอินเข้าหน้าเว็บไซต์ https://www.dropbox.com/support/
  2. เลือกประเภทบัญชีที่ใช้งาน Dropbox โดย Basic คือสำหรับผู้ใช้ฟรี
  3. ในหน้าจอขอความช่วยเหลือ เลือกหัวข้อ File recovery
  4. เลือก Undo a large number of changes to files and folders
  5. เลือก Revert my Dropbo back to dae and time เพื่อย้อนข้อมูลทั้งหมดใน Dropbox กลับไปยังวันเวลาที่กำหนด แต่หากต้องการย้อนคืนเฉพาะบางไฟล์หรือบางโฟลเดอร์ Undo a large number of changes to files and folders
  6. กรอกข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อใช้ในการวิเคราะห์ เช่น อุปกรณ์ที่ประสบปัญหาในการใช้งาน Dropbox และสาเหตุที่ต้องการกู้คืนข้อมูล (ถ้าติดมัลแวร์เรียกค่าไถ่ ใส่ช่อง Subject เป็น Ransomware)
  7. คลิกปุ่ม Submit เพื่อส่งคำขอความช่วยเหลือไปยังทีมงาน Dropbox จากนั้นรอการตอบกลับทางอีเมล

ข้อแนะนำในการเข้ารหัสลับไฟล์ข้อมูลก่อนนำขึ้น cloud

ผู้ใช้ควรพิจารณาก่อนนำข้อมูลใดๆ ที่เป็นความลับส่งขึ้น cloud เนื่องจากอาจมีความเสี่ยงเรื่องข้อมูลรั่วไหล เช่น รหัสผ่านสำหรับล็อกอินเข้าใช้งานหลุดรั่ว หรือผู้ให้บริการ cloud ถูกเจาะระบบ
เพื่อป้องกันความเสี่ยง หากต้องการอัปโหลดไฟล์ขึ้น cloud ควรเข้ารหัสลับข้อมูลในไฟล์ ซึ่งสามารถทำได้โดย
  • ใช้ความสามารถเข้ารหัสลับไฟล์ข้อมูลเอกสาร ปัจจุบันซอฟต์แวร์ office เช่น Microsoft Office หรือ LibreOffice มีความสามารถในการเข้ารหัสลับข้อมูลในไฟล์อยู่แล้ว โดยสามารถตั้งรหัสผ่านได้จากหน้าจอบันทึกไฟล์ [5] [6]
  • บีบอัดไฟล์แล้วใส่รหัสผ่าน โดยอาจใช้โปรแกรม เช่น 7-Zip เพื่อช่วยในการเข้ารหัสลับไฟล์ได้ [7]
  • ใช้บริการเข้ารหัสลับไฟล์ข้อมูลอัตโนมัติก่อนส่งขึ้น cloud โดยปัจจุบันมีผู้พัฒนาเครื่องมือให้สามารถใช้งานในลักษณะนี้ได้ เช่น Boxcryptor เป็นต้น โดยอาจมีค่าใช้จ่ายหากต้องการความสามารถที่เพิ่มขึ้น

อ้างอิง

  1. https://support.microsoft.com/en-us/help/17128/windows-8-file-history
  2. https://support.microsoft.com/en-us/help/17143/windows-10-back-up-your-files
  3. https://veracrypt.codeplex.com/wikipage?title=Beginner%27s%20Tutorial
  4. https://support.microsoft.com/en-us/help/17184/windows-10-onedrive
  5. https://support.office.com/en-us/article/Password-protect-documents-workbooks-and-presentations-ef163677-3195-40ba-885a-d50fa2bb6b68
  6. https://help.libreoffice.org/Common/Protecting_Content_in
  7. https://www.howtogeek.com/203590/how-to-create-secure-encrypted-zip-or-7z-archives-on-any-operating-system/

มีผู้อ่านแล้ว 267 ราย


 
 
 
 
 
Designed by 2Lt.Chutchavan Suksutthi