ตราอาร์ม    ตราแผ่นดินของไทย    ตราสัญลักษณ์ รร.จปร.    ตราอาร์ของหน่วยงานอื่น ๆ
 

                     

ตราอาร์ม ต่างจากตราประทับ (seal) และตราสัญลักษณ์ (emblem) ตรงที่มีการให้คำอธิบายอย่างเป็นทางการโดยมีศัพท์เฉพาะของตนเอง
ซึ่งเรียกโดยรวมในภาษาอังกฤษว่า Blazon หรือเทียบเป็นภาษาไทยว่า นิยามของตรา

ในยุคคริสต์ศตวรรษที่ ๒๑ ตราอาร์มได้มีการนำไปใช้กับสถาบันต่างๆ เช่นมหาวิทยาลัย ตราของแต่ละแห่งจะได้รับการคุ้มครอง
ตามกฎหมายและปกป้องสิทธิการใช้งาน การใช้ตราดังว่ามานี้ยังรวมถึงการใช้เป็นเครื่องหมายราชการประจำชาติหลายประเทศ
กล่าวอีกนัยหนึ่งคือใช้เป็น "ตราแผ่นดิน" นั่นเองศิลปะในการออกแบบ การแสดงให้ปรากฏ การอธิบาย และการบันทึกตราอาร์ม
เรียกว่า heraldry อันอาจแปลเป็นภาษาไทยตามสำนวนของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้ว่า "มุทราศาสตร์"

 

ความหมายและประวัติความเป็นมาของตราอาร์มสยามประเทศ

ตราแผ่นดินของไทยในอดีต

ก่อนหน้านั้น ประเทศไทยไม่มีการกำหนดตราแผ่นดินที่ชัดเจนนัก
มีแต่ตราประจำรัชกาล ที่ประทับลงบนเงินพดด้วงซึ่งจะเปลี่ยนไป
ตามรัชกาลของพระมหากษัตริย์

นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่าสยามนำรูปครุฑพ่าห์มาใช้เป็น
ตราพระราชลัญจกรประจำแผ่นดินตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา
โดยนำแบบอย่างการใช้ตรามาจากประเทศจีน โดยอ้างอิงจาก
จดหมายเหตุลาลูแบร์ ซึ่งบันทึกว่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้น
พระมหากษัตริย์มีตราประจำพระองค์ ในจดหมายเหตุดังกล่าว
ไม่ได้ระบุว่าตราเป็นรูปอะไร

จึงสันนิษฐานกันว่าน่าจะเป็น ตราครุฑพ่าห์
คือ รูปพระนารายณ์ทรงครุฑ ทั้งนี้ เพื่อให้เข้ากับคตินิยม
ที่ถือเอาองค์พระมหากษัตริย์เป็นผู้มีบุญ บารมี เทียบเท่า
พระนารายณ์ผู้ทรงครุฑเป็นพาหนะ

 

 


ในสายตาชาวต่างประเทศนั้นถือว่าประเทศไทยเป็นราชอาณาจักร แห่งช้างเผือก จึงกำหนดรูปช้างเผือกลงในโล่ทำนองเดียวกับ ตราประจำตระกูลหรือตราแผ่นดินในยุโรป เพื่อสื่อความหมายถึง ราชอาณาจักรสยาม ซึ่งดูได้จากแผนที่โบราณฉบับต่างๆ ที่กล่าวถึง สยามในบางฉบับ เนื่องจากไม่ทราบชัดเจน ว่าสยามใช้เครื่องหมายอะไร เป็นตราประจำประเทศ
ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ เสวกเอก หม่อมเจ้าประวิช ชุมสาย
พระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชุมสาย กรมขุนราชสีหวิกรม
ผูกตราประจำประเทศขึ้นเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๔๑๖ โดยอิงกับ
หลักการผูกตราของทางยุโรปที่เรียกกันว่า Heraldry (หม่อมราชวงศ์
คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยแปลคำนี้ลงในหนังสือเรื่อง ฝรั่งศักดินา เอาไว้ว่า
“มุทราศาสตร์”) ตรานี้เรียกกันโดยทั่วไปว่า ตราแผ่นดินหรือตราอาร์ม
อันมีลักษณะดังต่อไปนี้-
  • ส่วนบนสุดตรงกลาง คือ ภาพพระมหาพิชัยมงกุฎเปล่งรัศมี
    หมายถึงความเป็นพระมหากษัตริย์

  • ภายใต้พระมหาพิชัยมงกฎเป็นภาพจักรและตรีไขว้ เรียกว่า
    ตรามหาจักรี อันเป็นพระบรมราชสัญลักษณ์ที่พระบาทสมเด็จ
    พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ ๑) แห่งพระบรมราช
    จักรีวงศ์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อเป็น
    เครื่องหมายแทนนาม ราชวงศ์จักรี ความหมายโดยรวม
    จึงแปลว่า พระมหากษัตริย์ แห่งพระราชวงศ์จักรี

  • ทางด้านซ้ายและขวาของพระมหาพิชัยมงกฎเป็นรูปฉัตร ๗ ชั้น
    อันเป็นเครื่องหมายแห่งราชาธิปไตย ที่เป็นฉัตร ๗ ชั้น ก็เพราะว่า
    เป็นฉัตรสำหรับใช้ประกอบกับนพปฏลมหาเศวตฉัตร (ฉัตร ๙ ชั้น)
    ซึ่งเป็นเครื่องหมายแสดงพระราชอิสริยศของพระมหากษัตริย์
    การใช้รูปดังกล่าวจึงเป็นการประกาศให้รู้ว่า ดินแดนสยาม
    อยู่ภายใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารของพระมหากษัตริย์ผู้เป็น
    สยามินทราธิราช

  • ใต้ลงมาเป็นรูปโล่แบ่งออกเป็น ๓ ห้อง โดยส่วนบนแบ่งเป็น
    ๑ ห้อง ส่วนล่างเป็น ๒ ห้อง มีความหมายดังนี้
    • ห้องด้านบนเป็นภาพช้าง ๓ เศียร หมายถึง สยามเหนือ,
      สยามกลาง และสยามใต้
      พื้นโล่เป็นสีเหลือง
    • ห้องล่างด้านขวาเป็นภาพช้างเผือก หมายถึงประเทศราช
      ลาวล้านช้าง (กรุงศรีสัตนาคนหุต)
      พื้นโล่เป็นสีแดง
    • ห้องล่างด้านซ้ายเป็นภาพกริชคดและกริชตรงไขว้กัน
      หมายถึง หัวเมืองประเทศราชมลายู พื้นโล่เป็นสีชมพู

    ความหมายโดยรวมของรูปสัญลักษณ์ภายในโล่จึงหมายถึง
    ขอบขัณฑสีมาทั้งหมดของประเทศสยามในเวลานั้น

  • ต่อจากฉัตรทางด้านขวาเป็นภาพคชสีห์ประคองฉัตร
    ส่วนทางด้านซ้ายเป็นภาพราชสีห์ประคองฉัตร
    คชสีห์หมายถึงข้าราชการฝ่ายกลาโหม ซึ่งเป็นใหญ่
    ทางฝ่ายทหาร ส่วนราชสีห์หมายถึง ข้าราชการฝ่ายมหาดไทย
    ซึ่งเป็นใหญ่ทางฝ่ายพลเรือน
    ทั้งสองฝ่ายนี้มีหน้าที่ป้องกัน
    พระราชอาณาจักรและค้ำจุนพระราชบัลลังก์

  • ส่วนขอบโล่ด้านล่างสุดล้อมรอบด้วยพระมหาสังวาลนพรัตน์
    รัตนราชวราภรณ์
    หมายถึง พระพุทธศาสนา มีที่มาจาก
    เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์์
    ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งพระมหาสังวาลนพรัตน์รัตน
    ราชวราภรณ์ก็นับเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชนิดนี้ด้วย
    ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ กำหนดให้พระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์
    และข้าราชการที่กระทำคุณงามความดีต่อชาติอย่างใหญ่หลวง
    โดยเงื่อนไขสำคัญในการพระราชทานนั้นกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า
    จะพระราชทานให้แก่บุคคลที่เป็นพุทธมามกะเท่านั้น

  • ส่วนใต้พระมหาสังวาลนพรัตน์รัตนราชวราภรณ์ คือ
    สายสร้อยจุลจอมเกล้าพร้อมดวงตรา หมายถึงการบำรุงตระกูลวงศ์
    ให้เจริญ อันเป็นภาษิตของเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า

    ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้น
    เพื่อเป็นบำเหน็จความชอบแก่ผู้ที่ปฏิบัติราชการด้วยความซื่อสัตย์
    ต่อแผ่นดิน และพระบรมราชวงศ์ และบุตรทายาทของผู้ปฏิบัติราชการ
    โดยพระราชทานสืบสกุลลงไปจนสิ้นสายบุตรชายเพื่อเป็นเกียรติ
    แก่วงศ์ตระกูล และเพื่อให้ผู้สืบสกุลกระทำความชอบต่อแผ่นดิน
    และสามัคคีกันรับใช้ชาติให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป

  • ส่วนล่างสุดของภาพ คือ คาถาภาษาบาลี จารึกบนแพรแถบ
    ด้วยอักษรไทย เป็นข้อความว่า

    "สพฺเพสํ สงฺฆภูตานํ สามคฺคี วุฑฒิ สาธิกา"

    แปลว่า "ความพร้อมเพรียงของบุคคลทั้งปวงผู้อยู่เป็นหมวดหมู่กัน
    ย่อมเป็นเครื่องทำความเจริญให้สำเร็จ"
    คาถาบทนี้เป็นพระนิพนธ์
    ของสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) วัดราชประดิษฐ์
    สถิตมหาสีมาราม ซึ่งได้ใช้เป็นคำขวัญประจำโรงเรียนนายร้อย
    พระจุลจอมเกล้าในเวลาต่อมาอีกด้วย


 

 

 

 

    เครื่องหมายอื่นๆ ที่แทรกอยู่ในตรา แต่เห็นได้
    ไม่สู้ชัดเจนนัก คือ เครื่องราชกกุธภัณฑ์ทั้ง ๕
    อันเป็นเครื่องหมายแห่งความเป็น พระเจ้าแผ่นดิน
    โดยสมบูรณ์ดังบรรยายต่อไปนี้
  • ตรงกลางภาพส่วนบนสุดเป็นภาพ พระมหา
    พิชัยมงกุฎ
  • บนมุมซ้ายด้านบนของโล่เป็นส่วนหนึ่งของ
    พระแสงขรรค์ชัยศรี และพระแส้หางจามรี
  • บนมุมขวาด้านบนของโล่เป็นส่วนหนึ่งของ
    ธารพระกรไม้ชัยพฤกษ์
    และ พัดวาลวิชนี
  • ฉลองพระบาทเชิงงอน แยกอยู่ริมฐานฉัตร
    ด้านละ ๑ ข้าง
  • เบื้องหลังตราแผ่นดินที่มีลักษณะเป็นจีบ
    คล้ายผ้าม่าน คือ ฉลองพระองค์ครุยทอง

องค์พระราชลัญจกรตราแผ่นดินนั้นเป็นตรากลม
มีอักษรตามขอบ พระราชลัญจกรจารึกไว้ว่า
"สมเด็จพระปรมินทร มหาจุฬาลงกรณ์
บดินทรเทพยมหามกุฎ พระจุลจอมเกล้า
เจ้ากรุงสยาม"


นอกจากนี้ยังมีคำอธิบายอื่นๆ ในลักษณะที่ต่างออกไป
แต่คำอธิบายข้างต้นนี้มีที่มาแรกสุดจากพระอธิบายที่สมเด็จ
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประทานให้
หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ ซึ่งพระอธิบายนี้ได้รับการเรียบเรียงใหม่
เป็นหลายสำนวนในที่ต่าง ๆ จึงนับได้ว่าเป็นคำอธิบายที่แพร่หลาย
และได้รับการยอมรับมากที่สุด

การใช้ตราอาร์มเป็นตราแผ่นดินนั้นใช้ในลักษณะทำนองเดียวกัน
กับตราพระครุฑพ่าห์ในปัจจุบัน จนกระทั่งยกเลิกไปเมื่อมีการใช้
ตราครุฑเป็นตราประจำชาติแทน ปัจจุบันนี้ยังมีบางหน่วยงาน
ใช้ตราอาร์ม เป็นตราประจำหน่วยงานของตนเอง เช่น
โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า กรมป่าไม้ เป็นต้น
ด้วยเหตุที่ว่าหน่วยงานของตน ก่อตั้งในสมัยรัชกาลที่ ๕
หรือมีประวัติความเป็นมาที่เกี่ยวข้องกับช่วงระยะดังกล่าว
(เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งใช้ตราอาร์ม เป็นตราหน้าหมวก
เริ่มมีการจัดระบบตำรวจอย่างจริงจังในสมัยนั้น เป็นต้น)

มูลเหตุในการเปลี่ยนตราประจำชาตินั้น นอกจากที่จะระบุ
ไว้ข้างต้นว่า รัชกาลที่ ๕ ทรงติว่าตราอาร์มเป็นอย่างฝรั่ง
เกินไปแล้ว เป็นไปได้ว่าการเปลี่ยนแปลงตราแผ่นดิน
น่าจะมีมูลเหตุหลักมาจากการสูญเสียประเทศราชทั้งลาว
เขมรและมลายู
ในรัชสมัยของพระองค์ จึงต้องเปลี่ยนแปลงตรา
เพื่อให้เหมาะกับกาลสมัย

 

 

 

 
พัฒนาโดย กองเทคโนโลยีสารสนเทศ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้่า
99 ถนนสุวรรณศร ตำบลพรหมณี อำเภอเมือง
จังหวัดนครนายก 26001
โทร. 037 - 393010 - 5 ต่อ 62453